โรคหลอดเลือดสมอง รู้เร็ว รักษาทัน
โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke คือ ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง เนื่องจากหลอดเลือดตีบ อุดตัน หรือ หลอดเลือดแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อสมองถูกทำลาย ทำให้การทำงานของสมองบางส่วนหรือทั้งหมดผิดปกติไป อาการมักจะเกิดขึ้นทันทีทันใด
โรคหลอดเลือดสมอง แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
- หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (Ischemic Stroke) ทำให้เนื้อเยื่อสมองขาดเลือด โดยอาจเกิดจากหลอดเลือดสมองตีบ จากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด และ หลอดเลือดสมองอุดตันจากการมีลิ่มเลือดจากหัวใจไปอุดตันหลอดเลือดสมอง ซึ่งทั้งสองแบบทำให้การไหลเวียนเลือดในสมองเสียไป เกิดสมองขาดเลือดหรือเนื้อเยื่อสมองตาย ตามมาได้
- หลอดเลือดสมองแตกหรือฉีกขาด (Hemorrhagic stroke) เกิดจากหลอดเลือดมีความเปราะบางจากภาวะความดันเลือดสูง หรือหลอดเลือดเสียความยืดหยุ่น จากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้แตกง่าย ส่งผลทำให้เกิดเลือดออกในสมอง และเกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อสมองตามมา
สมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient ischemic attack หรือ TIA)
คือ การที่ปริมาณเลือดไปเลี้ยงสมองส่วนใดส่วนหนึ่งน้อยลงทันที และสามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมได้ในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้ไม่เกิดภาวะเนื้อสมองตายจากการขาดเลือด อาการจะเป็นเหมือนโรคหลอดเลือดในสมองตีบ แต่จะหายได้ภายในเวลา 24 ชั่วโมง มักจะมีอาการเพียงระยะเวลาสั้น ๆ เช่น 5 -10 นาที ส่วนใหญ่เมื่อผู้ป่วยมาตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) มักจะไม่พบความผิดปกติ โดยทั่วไปประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยสมองขาดเลือดชั่วคราว มักจะกลายไปเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบ (Ischemic stroke) ภายใน 7 วัน ดังนั้นการที่ผู้ป่วยมีอาการสมองขาดเลือดชั่วคราว มักจะเป็นสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยทุกรายที่มีอาการจึงควรมาพบแพทย์ทันทีที่มีความผิดปกติเกิดขึ้น
อาการของโรคหลอดเลือดสมอง
มักเป็นทันทีทันใด ถ้าเราสามารถสังเกตอาการได้อย่างทันท่วงที จะช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตและลดความเสี่ยงอัมพฤกษ์ อัมพาต และรักษาการทำงานของสมองให้กลับมาเป็นปกติได้
สามารถสังเกตอาการตามหลัก FAST ได้แก่
F (Face) ผู้ป่วยจะมีอาการหน้าเบี้ยว หรือปากเบี้ยวด้านใดด้านหนึ่ง หรือผู้ป่วยบางท่านอาจมีอาการระหว่างรับประทานอาหาร เช่น อาหารไหลออกจากปาก หรือน้ำลายไหลออกจากมุมปากด้านใดด้านหนึ่ง ทดสอบง่าย ๆ ได้โดยให้ผู้ป่วยลองยิ้ม หรือยิงฟัน แล้วสังเกตว่าปากเบี้ยวหรือมุมปากตกหรือไม่?
A (Arms) อาการแขนขาอ่อนแรง ผู้ป่วยจะขยับแขนขาด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้ โดยอาจจะเป็นเฉพาะขา หรือเป็นทั้งแขนขาซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นด้านเดียวกัน ทดสอบง่าย ๆ โดยการให้ผู้ป่วยลองยกแขนขาทั้งสองข้าง ถ้าตกด้านใดด้านหนึ่ง แสดงว่ามีความผิดปกติ
S (Speech) ผู้ป่วยจะมีอาการพูดไม่ชัด พูดอ้อแอ้ เหมือนลิ้นคับปาก หรือบางคนมีอาการพูดไม่ออก หรือฟังคำสั่งไม่รู้เรื่อง ญาติบางคนอาจคิดว่าผู้ป่วยมีอาการสับสน ทดสอบได้ง่าย ๆ ด้วยการให้ผู้ป่วยพูดตามในคำง่าย ๆ เช่น กรุงเทพมหานคร หรือชี้ให้ดูปากกา นาฬิกา แล้วถามว่าของสิ่งนั้นเรียกว่าอะไร หรือให้ทำตามคำสั่งง่าย ๆ เช่น ชูสองนิ้ว เป็นต้น
T (Time) เพราะเวลาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง การรีบนำผู้ป่วยที่สงสัยว่ามีภาวะโรคหลอดเลือดสมองจากการสังเกตหลัก FAST ไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับสมอง เพราะทุกวินาทีที่ผ่านไป เซลล์สมองจะเสียหายมากขึ้น ซึ่งหากได้รับการรักษาที่รวดเร็ว จะช่วยลดความเสียหายของเนื้อสมอง
ปัจจุบัน หากผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแบบขาดเลือด เข้ารับการรักษาทันเวลาภายใน “4 ชั่วโมงครึ่ง” ซึ่งเป็นเวลาที่เรียกกันว่า “Stroke Golden Hour” แพทย์จะสามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดเพื่อเปิดหลอดเลือดและช่วยให้สมองบริเวณที่ขาดเลือดกลับมาทำงานอย่างปกติ โรคหลอดเลือดสมองถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถให้ประวัติเองได้ แพทย์จำเป็นที่จะต้องทราบเวลา ที่ญาติพบเห็นผู้ป่วยยังเป็นปกติครั้งสุดท้ายหากสงสัยว่าผู้ป่วยมีอาการของโรคหลอดเลือดสมอง ให้ดำเนินการดังนี้
- โทรศัพท์แจ้งโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด หรือ 1669
- นำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันทีที่มีอาการ ไม่ควรรอหรือให้ผู้ป่วยนอนพักสังเกตอาการเอง
- หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวที่ต้องมียาที่รับประทานเป็นประจำ เช่น เบาหวานหรือลดความดันเลือด ควรนำยามาโรงพยาบาลด้วย และไม่ควรให้ยาผู้ป่วยรับประทานก่อนที่จะมาถึงโรงพยาบาล เช่น ยาเบาหวาน และยาลดความดัน เพราะยาลดความดันจะทำให้ผู้ป่วยมีความดันเลือดที่ต่ำลง และอาจจะทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ
- หากผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นเองก่อนถึงโรงพยาบาล ก็ยังจำเป็นที่จะต้องนำผู้ป่วยมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพราะอาจจะเป็นภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง โดยผู้ป่วยต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดในโรงพยาบาล และต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมในทันที และหากมีความผิดปกติเกิดขึ้นอีกแพทย์จะสามารถรักษาได้ทันท่วงที
การป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง
ควรป้องกันก่อนการเกิดโรคและควรควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการ ตีบ อุดตัน หรือแตก โดยมีแนวทางการป้องกันโรค ดังนี้
- ปรับระดับความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีคลอเรสเตอรอลและไขมันอิ่มตัวสูง
- เลิกสูบบุหรี่
- ควบคุมอาการของโรคเบาหวาน
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- รับประทานผลไม้และผักให้มากยิ่งขึ้น
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ลดการดื่มสุรา
- เข้ารับการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติด
โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่อันตราย แต่หากรู้เร็ว รักษาทันเวลา ก็สามารถช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีหรือหายเป็นปกติได้ ทั้งนี้ โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่ป้องกันได้ โดยการตรวจสุขภาพประจำปี และตรวจคัดกรองโรคหลอดเลือดสมองโดยตรง เพื่อค้นหาความเสี่ยง และเลือกแนวทางการป้องกันที่เหมาะสมต่อไป
กรุณาติดต่อนัดหมาย
แผนกผู้ป่วยนอก
โทร.032-532576-80 ต่อ 102
Make an appointment
with your doctor today!

Let's us care for you
Our staffs and medical professions from various background and experiences are here to make sure you have the best care while staying with us.
Make an appointment
with your doctor today!

Let's us care for you
Our staffs and medical professions from various background and experiences are here to make sure you have the best care while staying with us.