นอนกรน ... ภัยแฝงอันตรายถึงชีวิต
การนอนกรน เป็นอาการที่พบได้ในทุกเพศ ทุกวัย เกิดได้จากหลายสาเหตุ ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของแต่ละบุคคล ซึ่งอาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้คุณภาพการนอนลดลง และอาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ตามมาจากการพักผ่อนไม่เพียงพอได้
แม้ว่าหลายคนจะมีอาการนอนกรน จนเหมือนเป็นเรื่องปกติ แต่อาการนอนกรนถือเป็นภาวะที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะรายที่มีอาการมาก นอนทีไรเป็นต้องกรนทุกที ยิ่งไปกว่านั้น หากการนอนกรนที่เป็นอยู่ มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ /หรือหายใจเฮือกร่วมด้วย ควรได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี เนื่องจากจะส่งผลเสียต่อร่างกายได้ในระยะยาวมาดูกันว่า แนวทางการรักษาอาการนอนกรนนี้ ต้องทำอย่างไรบ้าง?
อาการนอนกรน อาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- กล้ามเนื้อในช่องคอหย่อนคล้อย หรือตีบแคบลง ไปอุดกั้นช่องทางเดินหายใจ
- มีไขมันในช่องคอมากทำให้ช่องทางเดินหายใจตีบแคบ
- มีก้อนในช่องทางเดินหายใจ เช่น ต่อมทอนซิล หรือต่อมอะดีนอยด์โต ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของอาการนอนกรนและเสี่ยงหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก
- การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การรับประทานยานอนหลับ ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยาที่มีฤทธิ์กดประสาท จะทำให้กล้ามเนื้อหย่อนตัวลงมากกว่าปกติ ทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบ ผู้ที่มีโครงสร้างกระดูกเล็กกว่าปกติ เช่น คางสั้น คางถอย เป็นต้น
- มีช่องคอที่แคบโดยกำเนิด หรือมีโครงหน้าที่เป็นอุปสรรคต่อทางเดินหายใจ เช่น คางสั้น โคนลิ้นใหญ่ ช่องจมูกคด และในผู้ป่วยที่มีโครงสร้างทางศีรษะและในรายที่ผิดปกติ จากโรค หรือ ภาวะผิดปกติแต่กำหนดกำเนิดบางอย่าง ก็อาจทำให้มีอาการกรน รุนแรงขึ้นได้เช่นกัน
- ทางเดินหายใจในส่วนจมูกตีบแคบเป็นผู้ป่วยที่เป็นภูมิแพ้ เป็นหวัด หรือ กำลังมีเยื่อบุจมูกและมีไซนัสอักเสบ ก็อาจจะรู้สึกว่านอนกรนมากขึ้นในช่วงที่อาการกำเริบได้
ปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมา ทำให้อากาศไหลผ่านไม่สะดวกและเกิดเป็นเสียงกรนดังขึ้น
การนอนกรนอันตรายไหม?
คนนอนกรน สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ อาการนอนกรนแบบธรรมดา ที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาใด ๆ เพียงแค่สร้างเสียงรบกวนให้กับคนรอบข้าง รวมถึงอาจมีอาการเจ็บคอเพียงเล็กน้อยหลังตื่นนอน ส่วนอีกประเภทคือ อาการนอนกรนแบบอันตราย ซึ่งมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย ซึ่งเป็นอาการนอนกรนรุนแรงที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตและเกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้
นอนกรน สัมพันธ์กับ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับอย่างไร?
เมื่ออาการนอนกรนรุนแรงขึ้นนั่นหมายความว่าช่องทางเดินหายใจตีบแคบจนอากาศไม่สามารถไหลผ่านได้ อาจนำไปสู่ภาวะหยุด หายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea, OSA) เป็นภาวะที่ช่องทางเดินหายใจถูกปิดกั้น ซึ่งภาวะนี้มีความอันตรายต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก
อาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- มีอาการนอนกรนเสียงดังมาก และหยุดหายใจเป็นช่วง ๆ ขณะนอนหลับ
- มีอาการสะดุ้งตื่น จากการสำลัก หรือหายใจติดขัด
- มีอาการเจ็บคอ และปากแห้งหลังตื่นนอน
- มีอาการกล้ามเนื้อกระตุก หรือขยับขาไปมาขณะหลับ
- มีอาการละเมอต่าง ๆ เช่น ละเมอเดิน ละเมอพูด
- มีอาการฝันร้าย ฝันผวา นอนหลับได้ไม่สนิท
อันตรายของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- รู้สึกง่วงตลอดเวลา ไม่สดชื่น เนื่องจากพักผ่อนได้ไม่เพียงพอ และอาจเกิดอุบัติเหตุจากการหลับในได้
- มีความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจ, โรคหลอดเลือดสมอง และโรคเสื่อมสมรรถทางเพศ ภาวะซึมเศร้า อาการวิตกกังวล
- มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคใหลตายขณะหลับ และเสียชีวิตได้
หากคุณมีอาการนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ และไม่ได้รับการแก้ไข นานวันเข้าจะส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว เช่น เสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง หัวใจวาย อัมพฤกษ์ อัมพาต สมองเสื่อม สมรรถภาพทางเพศลดลง
แก้อาการนอนกรนด้วยตัวเอง วิธีไหนดี?
การแก้ไขปัญหานอนกรนเบื้องต้น ด้วยการปรับพฤติกรรมหรือสิ่งแวดล้อมในการนอน สามารถช่วยบรรเทาปัญหาอาการนอนกรนได้ โดยวิธีที่เราแนะนำให้ลองปรับใช้ดู เช่น การนอนตะแคง การปรับพฤติกรรมและสุขลักษณะการนอนหลับ และการเลือกหมอนที่เหมาะสมกับสรีระ
ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ช่วยป้องกันหรือบรรเทาอาการนอนกรนได้
- ออกกำลังกายเป็นประจำ แต่พยายามเลือกเวลาให้ห่างจากช่วงก่อนนอน
- นอนหลับให้เป็นเวลาจนติดเป็นนิสัย และควรนอนให้ได้อย่างน้อย 6 ชั่วโมง
- สามารถรับประทานอาหารว่างเล็กน้อยเบาๆก่อนนอนได้ เช่น นมอุ่น โยเกิร์ต ผลไม้ที่น้ำตาลต่ำ แต่ไม่ควรรับประทานอาหารหนัก
- งดชา กาแฟ บุหรี่ ในช่วงบ่าย
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยากล่อมประสาท การใช้ยานอนหลับ เพราะมีผลต่อความตึงตัวของกล้ามเนื้อ จะกระทบอาการนอนกรนมากขึ้นได้
- คุมอาหาร ลดน้ำหนัก โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีภาวะอ้วน หรือมีค่า BMI เกินมาตรฐาน เพราะมวลไขมันที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้เกิดการตีบลงของอวัยวะในช่องคอได้
การตรวจ Sleep Test
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการนอนกรนดังมาก กรนเป็นประจำ กรนในทุกท่วงท่าการนอน หรือสงสัยว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เช่น อ่อนเพลียในช่วงเช้า ง่วงนอนมากระหว่างวันบ่อย ๆ ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการตรวจ Sleep Test
- การตรวจการนอนหลับ หรือ Sleep test เป็นการตรวจเพื่อหาสาเหตุของความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างที่เรานอนหลับได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่แค่อาการนอนกรนแต่เพียงอย่างเดียว บางคนที่มีความผิดปกติอื่น ๆ ระหว่างนอนหลับก็สามารถตรวจพบได้ด้วยวิธีนี้เช่นกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนและติดตามการรักษาได้อย่างถูกต้องแม่นยำ
- การตรวจการนอนหลับ (sleep test) มีระดับความละเอียดในการตรวจหลายระดับ ตั้งแต่การตรวจแบบละเอียดที่สุด ไปจนถึงการตรวจเพื่อค้นหาปัญหาบางชนิดเท่านั้น ทั้งนี้ ควรสอบถามผู้ให้บริการเพื่อประเมินระดับการตรวจที่เหมาะสมกับเรา