Home
Blog

เลือดกำเดาไหลแบบไหน ต้องพบแพทย์

หลายคนคงจะเคยมีประสบการณ์เลือดกำเดาไหลกันมาบ้างแล้ว ซึ่งอาการเลือดกำเดาไหลเป็นภาวะที่พบได้บ่อย จึงอาจมองว่าเลือดกำเดาไหลนั้นเป็นเพียงแค่อาการทั่วไป ที่เกิดจากเส้นเลือดฝอยในจมูกแตก แท้จริงแล้วอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายแรงบางอย่างก็เป็นได้ บทความนี้จะพาทุกท่านไปรู้จักกับภาวะเลือดกำเดาไหลให้มากขึ้น พร้อมวิธีปฐมพยาบาลที่ถูกต้อง

เลือดกำเดาไหล เป็นภาวะเลือดออกทางโพรงจมูกสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ เลือดออกทางจมูกด้านหน้า และเลือดออกทางจมูกด้านหลังโพรงจมูก ซึ่งจะมีอาการรุนแรงมากกว่าเนื่องจากเป็นบริเวณที่มีเส้นเลือดใหญ่ทำให้มี เลือดกำเดา ออกปริมาณมากและอาจทำให้อาเจียนเป็นเลือดได้

สาเหตุ

  • ารเกิดแผลในโพรงจมูกจากการแคะ แกะ เกา ขยี้จมูก การเอาทิชชูเข้าไปเช็ดข้างใน หรือสั่งน้ำมูกแรงๆ 
  • จมูกได้รับอุบัติเหตุ หรือการกระแทกอย่างรุนแรง หรือมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในจมูก
  • โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) ที่ควบคุมไม่ดี หรือภาวะหลอดเลือดแข็งตัว (Atherosclerosis) ส่งผลให้เส้นเลือดใหญ่ในโพรงจมูกด้านหลังเปราะแตก กรณีนี้มักมีเลือดออกปริมาณมาก และในบางรายอาจต้องผ่าตัดฉุกเฉิน โดยการส่องกล้องจี้ไฟฟ้าเพื่อหยุดหลอดเลือดที่แตกโดยตรง (Endoscopic Sphenopalatine Artery Ligation)
  • อากาศเย็นและแห้ง ทำให้เยื่อบุจมูกแห้งและบวม ส่งผลให้มีเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบและเลือดออกได้ 
  • สภาพอากาศร้อนส่งผลให้เส้นเลือดบริเวณเยื่อบุจมูกขยายตัวและเปราะแตกได้
  • โรคจมูกและไซนัสอักเสบทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง สามารถทำให้เยื่อบุบวม ขยายและมีเลือดออกได้ 
  • การมีเนื้องอก มะเร็งโพรงจมูกและไซนัส หรือมะเร็งหลังโพรงจมูก อาจทำให้เลือดกำเดาไหลออกหน้าจมูก หรือลงคอได้ หลายคนมีอาการร่วมกับคัดจมูกข้างเดียว หูอื้อ ปวดศีรษะ ก้อนบริเวณลำคอ ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต  หรือใบหน้าบวมผิดรูปร่วมด้วย 
  • ผู้ป่วยมีโรคที่ส่งผลให้การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ หรือรับประทานยาต้านเกล็ดเลือด , ยาละลายลิ่มเลือด
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น การตั้งครรภ์ มักส่งผลให้เส้นเลือดขยายตัว เปราะแตกง่าย และมีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
  • การใช้ยาพ่นจมูก หยอดจมูก หรือล้างจมูกไม่ถูกวิธี 
  • โรคหรือภาวะที่มีเส้นเลือดผิดปกติ เช่น Ateriovenous Malforation และ Hereditary Hemorrhagic Telangiectasia

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อเลือดกำเดาไหล  

เลือดกำเดาไหลมักมีอาการเลือดออกที่ไม่รุนแรง ส่วนใหญ่เลือดมักหยุดได้เองภายใน 5-10 นาที อย่างไรก็ตาม เลือดกำเดาไหลยังเป็นอาการที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา หรือปฐมพยาบาลอย่างทันท่วงที ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้

  • ให้หยุดพักกิจกรรมที่กำลังทำอยู่ 
  • นั่ง หรือนอนในท่าศีรษะสูง โน้มศีรษะมาด้านหน้าเล็กน้อยและหายใจทางปาก เพื่อป้องกันการสำลัก หรือเลือดไหลย้อนกลับ
  • จากนั้นให้บีบบริเวณปีกจมูกทั้ง 2 ข้างให้แน่น ค้างไว้ประมาณ 10 นาที 
  • อยู่ในที่เย็นและอากาศถ่ายเทได้สะดวก 
  • ใช้ผ้าเย็น หรือผ้าห่อน้ำแข็งประคบบริเวณจมูกและแก้ม เพื่อช่วยให้เลือดหยุดเร็วขึ้น 
  • หากเลือดไม่หยุดไหลให้ไปโรงพยาบาลทันที 

เลือดกำเดาไหล แบบไหนต้องพบแพทย์

เลือดกำเดาไหลส่วนใหญ่จะไม่เป็นอันตรายร้ายแรง หากมีเลือดกำเดาไหลออกมามากกว่าปกติ อาจจะเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายแรงที่ซับซ้อน ส่งผลให้ต้องมีการเข้าปรึกษากับทางแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการอย่างละเอียด ซึ่งสามารถสังเกตอาการได้ ดังนี้

  • เลือดกำเดาไหลไม่หยุดเกินกว่า 5-10 นาที
  • เลือดไหลออกมาเป็นลิ่มเลือด หรือออกมาปริมาณมาก
  • ตัวซีด ปากซีด มีอาการหน้ามืด เวียนหัว คล้ายจะเป็นลม
  • สำลักหรืออาเจียนออกมาเป็นเลือด
  • ชีพจรเต้นเร็ว หายใจลำบาก

เลือดกำเดาไหลบ่อยๆ เลือดกำเดาไหลแค่ข้างเดียวซ้ำๆ หรืออาจมีอาการคัดจมูกข้างเดียว หูอื้อ การได้ยินลดลง ก้อนหรือต่อมน้ำเหลืองที่คอโต ใบหน้าผิดรูป ซึ่งอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกของเนื้องอกในโพรงจมูก ไซนัส หรือเยื่อบุหลังโพรงจมูกได้

San Paulo Hua-hin Hospital

Make an appointment
with your doctor today!

ชุดรวมพยาบาล หลายแผนก

Let's us care for you

Our staffs and medical professions from various background and experiences are here to make sure you have the best care while staying with us.

Easy and fast way to contact us online is here. Please fill in this form and we will contact you ASAP to confirm your schedule : )
Or call us 032 532 576

Add Your Heading Text Here