โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง?
โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อ ไวรัสเอนเทอโร ส่วนใหญ่สายพันธ์ุที่พบบ่อย คือ เชื้อ coxsackievirus A16 และ Enterovirus 71 โดยโรคนี้มีพบบ่อยใน เด็กอายุ น้อยกว่า 5 ปี
การแพร่ระบาด
พบบ่อยในสถานที่ที่มีกลุ่มเด็กเล็กอาศัยอยู่รวมกัน เช่น สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนชั้นอนุบาล หรือประถมศึกษา โดยระยะเวลาตั้งแต่เริ่มติดเชื้อ จนมีอาการ นาน 3-7 วัน
การติดต่อ
โรคนีัสามารถติดต่อได้ง่าย ผ่านการสัมผัสจากคนที่ติดเชืัอ สู่คนอื่นๆ ดังนี้
- ทางน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ
- อุจจาระที่มีเชื้อไวรัส
- ของเหลวจากตุ่มพอง
- การกินอาหารที่ปนเปื้อน เชื้อไวรัส มือ เท้า ปาก
โดยผู้ป่วยจะแพร่เชื้อได้มากที่สุด ในช่วงสัปดาห์แรกของการเป็นโรค มือ เท้า ปาก
ลักษณะอาการโรคมือเท้าปาก
ในเด็กจะมีไข้สูง 3-4 วัน และเริ่มมีตุ่มน้ำใส (Vesicle) ขึ้นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ปาก ลิ้น เหงือก ในวันแรกของไข้ มีอาการเจ็บร่วมด้วย ทำให้ทานอาหารไม่ได้ มีน้ำลายไหล และอาจมีผื่นขึ้นตามขาทั้ง 2 ข้าง อาการมักจะหายเองภายใน 7-10 วัน ในผู้ใหญ่ ลักษณะอาการจะแตกต่างจากเด็ก คือ มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว มีแผลในปาก อาจมีผื่นขึ้นหรือไม่มีก็ได้ ส่วนใหญ่ไข้จะลดลงและหายไปเองภายใน 1 สัปดาห์ แผลในปากจะดีขึ้นเอง ตุ่มน้ำที่มือหรือเท้าจะค่อยๆ หายไป โดยโรคแทรกซ้อนที่พบได้คือ เยื่อหุ้มสมอง หรือเนื้อสมองอักเสบ นอกจากนี้อาจเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้
หากมีอาการเหล่านี้อาจเป็นโรคมือเท้าปาก ควรรีบไปพบแพทย์
- มีไข้สูง 39 องศาเซลเซียส หรือ ไข้สูงมากกว่า 2 วัน
- เหนื่อย หอบ
- ซึม หลับทั้งวัน ปลุกตื่นยาก
- อาเจียนบ่อย มากกว่า 2-3 ครั้ง
- อาการแขนขาอ่อนแรง
- มีอาการผวาหรือกระตุก จากเดิมไม่เคยมีอาการมาก่อน
แนวทางการรักษาโรคมือ เท้า ปาก
โดยทั่วไป อาการของโรค มือ เท้า ปาก จะดีขึ้นเอง การรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ เช็ดตัว และเฝ้าระวังอาการชัก จากไข้ที่สูง
ปัญหาที่พบบ่อย คือ เด็กบางคนรับประทานอาหารและน้ำได้น้อย เพราะเจ็บแผลในปาก แนะนำให้รับประทานอาหารอ่อน เคี้ยวง่าย การดื่มน้ำเย็นหรืออาหารอ่อนที่เย็นจะทำให้ผู้ป่วยกินอาหารและน้ำได้มากขึ้น
อาจให้ยาชาเฉพาะที่ อมในปาก ก่อนการรับประทานอาหาร
การป้องกันโรคมือเท้าปากด้วยการฉีดวัคซีน
โรคมือเท้าปากที่เดิดจากเชื้อEV 71 สามารถป้องกันและลดเสี่ยงได้ด้วยการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะ เพราะเป็นเชื้อตัวสำคัญที่อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงได้ โดยที่ผ่านมาพบว่า วัคซีนชนิดนี้ไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรง และมีความปลอดภัยสูง สำหรับอายุที่แนะนำในการฉีดวัคซีนมือเท้าปาก คือ เด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 5 ปี
ดูแลสุขอนามัย เพื่อป้องกันการติดโรคมือเท้าปาก
การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การล้างมือบ่อยๆ การดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล การทำความสะอาดของเล่นและเครื่องใช้ หลีกเลี่ยงการนำบุตรหลานไปในสถานที่ที่มีโอกาสสัมผัสกับโรคได้ เช่น สนามเด็กเล่น ตลาด หรือแหล่งที่มีคนแออัด