Home
Blog
โรคอีสุกอีใส
โรคอีสุกอีใส อาการของโรค ลักษณะที่พบ ผิวหนัง และการรักษา

โรคอีสุกอีใส

          โรคอีสุกอีใส เป็นโรคไข้ออกผื่นชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์ (Varcella Zoster Virus)  พบได้ตลอดปีแต่พบบ่อยในฤดูหนาวเนื่องจากเชื้อมีความทนต่อสภาพอากาศเย็นเชื้อแพร่กระจายได้ง่ายในสถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล  ผ่านทางอากาศ (airborne) เด็กที่เคยเป็นอีสุกอีใสมีโอกาสเป็นโรคงูสวัดในอนาคตเมื่อภูมิคุ้มกันลดลง

กลุ่มเสี่ยง

ทารกแรกเกิด   เด็กวัยรุ่น  และเด็กที่มีภูมิคุ้มกันผิดปกติ

อาการ

          เด็กที่ติดเชื้อไวรัสอีสุกอีใส จะมีอาการไข้และผื่น    โดยผื่นจะมีลักษณะจำเพาะคือ เริ่มจากตุ่มสีชมพูหรือแดงแดง  กลายเป็นตุ่มน้ำใส  ตุ่มหนองและตกสะเก็ด มักพบที่ลำตัวและใบหน้ามากกว่า บริเวณแขนขา ไข้และตุ่มน้ำที่ผิวหนัง จะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับอายุ เด็กโตหรือผู้ใหญ่มักมีมากกว่าเด็กเล็ก บางรายอาจมีอาการทางระบบทางเดินหายใจร่วมด้วย หากพบภาวะแทรกซ้อนทางปอด หรือสมอง รวมทั้งการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนที่ผิวหนังรุนแรง หรือติดเชื้อเข้ากระแสเลือด อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

การวินิจฉัย

ส่วนใหญ่วินิจฉัยได้จากอาการและลักษณะของผื่นแต่ในบางครั้งอาจต้องอาศัยการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ

การรักษาและการดูแล

             ส่วนใหญ่เน้นการรักษาตามอาการ  โดยให้ยาลดไข้ ยาแก้คัน ส่วนการให้ยาต้านไวรัสอีสุกอีใส แนะนำให้เฉพาะในเด็กกลุ่มเสี่ยง  มีอาการรุนแรงหรือผื่นลุกลามไปทั่วร่างกายและเกิดรอยโรคที่เยื่อบุผิวบริเวณตา ช่องคอ ทวารหนัก ท่อปัสสาวะ และช่องคลอด  หรือมีภาวะแทรกซ้อน  

           ควรงดไปโรงเรียน ป้องกันการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น ( 1-2 วันก่อนมีอาการ จนถึง 7 วันหลังมีอาการ หรือ จนตุ่มน้ำแห้งตกสะเก็ด หรือตามดุลยพินิจของแพทย์ )

คำแนะนำ

หลีกเลี่ยงยาแอสไพริน ควรตัดเล็บให้สั้น หลีกเลี่ยงการแกะเกา

การป้องกัน

การป้องกันด้วยมาตรการทั่วไปทำได้ยากจึงต้องอาศัยการฉีดวัคซีนเป็นหลัก

วัคซีนอีสุกอีใส เหมาะสำหรับ

  • เด็กเล็ก ที่มีอายุระหว่าง 12-23 เดือน ซึ่งเป็นวัคซีนเสริมทางเลือก สามารถฉีดร่วมกับวัคซีนตามวัยอื่นๆ ได้
  • เด็กโตตั้งแต่อายุ 7-13 ปี ที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีน โดยจะมีระยะและขนาดการฉีดต่างกันตามวัย
  • ผู้ใหญ่ที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ที่ทำงานที่โรงเรียน สถานเลี้ยงเด็ก หรือบุคลากรทางการแพทย์
  • ผู้ใหญ่ที่ไม่เคยมีประวัติโรคอีสุกอีใสมาก่อน
ยกเว้น  หญิงตั้งครรภ์, ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือ การรับประทานยากดภูมิ, ผู้ที่แพ้เจลาตินหรือยาปฏิชีวนะในกลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์

 

ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อคลินิกกุมารเวช : แผนกผู้ป่วยนอก 032 532 576-80