Home
Blog
โรคหลอดเลือดสมอง : ต้องรู้ ต้องเร็ว!!!
อาหารของผู้มีภาวะ โรคหลอดเลือดสมอง อาการที่เป็น หรือการกำเริบของโรค ข้อความระวัง

โรคหลอดเลือดสมอง : ต้องรู้ ต้องเร็ว!!!

                 โรคหลอดเลือดสมอง หรือ บางคนอาจรู้จักในนาม โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต  ซึ่งปัจจุบัน ถือเป็นโรคยอดฮิต พบอุบัติการณ์การเกิดโรคหลอดเลือดสมองในประเทศไทย เพิ่มมากขึ้น เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ

  1. โรคหลอดเลือดสมองชนิดตีบตัน/ อุดตัน (Ischemic stroke) เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุดในบรรดาโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด เกิดจากการอุดตัน/ตีบตัน ของหลอดเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมอง ไม่เพียงพอ
  2. โรคหลอดเลือดสมอง ชนิดเลือดออกในสมอง (Hemorrhagic Stroke) เกิดจากการที่หลอดเลือดสมองแตกหรือฉีกขาด แล้วทำให้เลือดรั่วไหลเข้าไปในเนื้อเยื่อสมอง

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค

อายุมาก, เพศชายจะมีความเสี่ยงสูงกว่าเพศหญิง, ประวัติในครอบครัว เชื้อชาติและพันธุกรรมบางชนิด และเกิดจากปัจจัยด้านพฤติกรรม เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอลล์  โรคอ้วน ขาดการออกกำลังกายและโรคประจำตัวต่างๆ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันสูง เป็นต้น

การวินิจฉัย

               ในการตรวจยืนยัน แพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายและตรวจทางระบบประสาท รวมถึงตรวจเลือด ทั่วไป และเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) เพื่อดูลักษณะของเส้นเลือดสมอง หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)

การรักษา

  • กรณีหลอดเลือดสมองตีบ หรือ อุดตัน รักษาได้ด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ ซึ่งใช้ในกรณีผู้ป่วยมาพบแพทย์ทันเวลา 4 ชั่วโมง 30 นาที และไม่มีข้อห้ามการให้ยา นับแต่มีอาการเท่านั้น** เพื่อละลายลิ่มเลือดและช่วยให้เลือดกลับไปเลี้ยงสมองได้ทัน  ส่วนอีกวิธีหนึ่ง คือ การใส่สายสวนลากลิ่มเลือด โดยใส่สายพร้อมขดลวดเข้าทางหลอดเลือดแดงใหญ่ไปจนถึงบริเวณที่มีการอุดตัน แล้วดึงลิ่มเลือดที่อุดตันออกจากหลอดเลือด เพื่อเปิดทางไหลเวียนของหลอดเลือด โดยไม่ต้องผ่าตัด
  • กรณีหลอดเลือดสมองแตก แพทย์จะพิจารณาผ่าตัด เพื่อควบคุมปริมาณเลือดที่ออก ควบคู่กับการรักษาระดับความดันโลหิต พร้อมทั้งรักษาสาเหตุของเส้นเลือดในสมองแตก ซึ่งวิธีผ่าตัด ขึ้นอยู่กับขนาดของเลือดที่ออกและตำแหน่งของเส้นเลือดที่แตก

การสังเกตอาการตามหลัง FAST

F (FACE) : หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว มุมปากตก หลับตาไม่สนิท ชาใบหน้า บางรายมองเห็นภาพซ้อน หรือมองไม่เห็นฉับพลัน

A (Arm) : แขน ขา ขยับไม่ได้ หรืออ่อนแรง อาจเป็นเฉพาะส่วน หรือ ทั้งแขนและขา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นซีกเดียวกัน หรือเดินเซ ทรงตัวไม่ดีเฉียบพลัน อาจมีอาการวิงเวียนบ้านหมุนร่วมด้วย

 S (Speech) : พุดไม่ชัด อ้อแอ้ พูดลิ้นคับปาก ฟังคำสั่ง หรือ ทำตามคำสั่งไม่รู้เรื่อง

T (Time) : เวลาของการเกิดโรคสำคัญที่สุด การมาโรงพยาบาลเร็วและได้รับการรักษา ภายใน 4 ชั่วโมง 30 นาที ในโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือด จะช่วยลดความเสียหายของเนื้อสมอง และสมารถมีโอกาสได้รับยาละลายลิ่มเลือดเพื่อช่วยให้สมองกลับมาทำงานได้อย่างปกติโดยเร็ว ซึ่งเรียกกันว่า Stroke golden period

เมื่อสงสัยว่ามีอาการหลอดเลือดสมอง ควรปฏิบัติดังนี้

  1. โทรแจ้ง รพ. ที่ใกล้ที่สุด โดยโทร 1669 หากอยู่ใกล้ รพ.ซานเปาโลหัวหิน ติดต่อแผนกฉุกเฉิน โทร 032 532 576-80
  2. ไปพบแพทย์ทันทีที่มีอาการ ไม่ควรรอสังเกตอาการ หรือดูแลเอง
  3. นำยาโรคประจำตัวมาด้วย ในกรณีที่มียาโรคประจำตัว แต่ระหว่างเดินทาง ไม่ควรรับประทานยาลดความดันโลหิตมาเอง เพราะอาจทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้น้อยลง หากความดันโลหิตลดลงมาก
  4. หากมีจะมีอาการดีขึ้นแล้ว หรือ เป็นๆ หายๆ ยังแนะนำให้มาพบแพทย์เฉพาะทางก่อน เนื่องจากเป็นภาวะสมองขาดเลือดแบบชั่วคราว ( TIA ) ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการดูแลใกล้ชิด หรือ ตรวจเพิ่มเติม เพื่อให้รักษาได้อย่างรวดเร็ว
 
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ คลินิกระบบประสาทและสมอง : แผนกผู้ป่วยนอก 032 532 576-80